ดอกจันทน์
ชื่อสามัญ/ชื่ออังกฤษ ดอกจันทน์เทศ Mace, ลูกจันทน์เทศ Nutmeg, Myristica
ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Houtt (M. officinalis L.f)
วงศ์ Myristicaceae
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น จันทน์บ้าน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
จันทน์เทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มหนาแน่น ใบดกมีสีเขียวเข้ม ค่อนข้างยาวปลายใบแหลม จันทน์เทศเป็นต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษคือ ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้จะอยู่กันคนละต้น โดยดอกตัวเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยว ส่วนดอกตัวผู้จะออกเป็นช่อและมีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นเวลาปลูกจึงต้องปลูกทั้งต้นที่เป็นตัวเมียและต้นที่เป็นตัวผู้ ผลจันทน์เทศค่อนข้างกลมมีลักษณะฉ่ำน้ํา เมื่อผลสุกเต็มที่จะแตกออกเป็นสองส่วน จนเห็นรกหรือเยื่อสีแดงเป็นแฉกๆ ที่หุ้มเมล็ดสีน้ําตาล ทางการค้าเรียก ดอกจันทน์เทศหรือดอกจันทน์ แต่ส่วนที่เรียกว่าลูกจันทน์เทศ นั้นคือเนื้อในของเมล็ด (Endosperm) มีกลิ่นหอม ซึ่งได้จากการกะเทาะเปลือกของเมล็ดออก หากนําเนื้อในเมล็ดไปสกัดด้วยไอน้ําก็จะได้น้ํามันจันทน์เทศ
แหล่งที่พบ
พบมากทางภาคใต้และทางภาคตะวันออก
สารสําคัญที่พบ
จันทน์เทศมีน้ํามันหอมระเหย (Volatile oil) ร้อยละ 2-6 ซึ่งประกอบ ด้วยสารแคมฟีน (Camphene) ไพนีน (Pinene) เจอรานิออล (Geraniol) บอร์นีออล (Borneol) ไลนาลูออล (Linalool) เทอร์พินีออล (Terpineol) และเมอริสติซิน (Myristicin) และมีน้ํามันระเหยยาก (Fixed oil) ประมาณร้อยละ 25-40 ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกรดเมอริสติค (Myristic acid) ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ของกรดลอริค (Lauric acid) กรดปาล์มมิติค (Palmitic acid) กรดสเตียริค (Stearic acid) นอกจากนี้ แล้ว ยังประกอบด้วย แป้ง โปรตีน และกรดโอเลโนลิค (Olenolic acid)
สรรพคุณ
ลูกจันทน์และดอกจันทน์ ช่วยทําให้เจริญอาหาร ใช้เป็นยา ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร บํารุงหัวใจ ใช้ผสมในยาต่างๆ เช่น ยาแก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ บํารุงโลหิต แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้โรคกระเพาะ อาหารและลําไส้ แก้หอบหืด ลดเสมหะ
น้ํามันหอมระเหย ใช้เป็นส่วนผสมของขี้ผึ้งที่ทาระงับอาการปวด
แก่นจันทน์เทศ แก้อาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน อาหารไม่ย่อย
นอกจากนี้ตํารายาพื้นบ้านของชาวตะวันตกและตะวันออกเคยมีรายงานว่าลูกจันทน์และดอกจันทน์สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้
ส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร
ผล (รกหุ้มเมล็ดหรือดอกจันทน์เทศและเนื้อในเมล็ดหรือลูกจันทน์) บางที่ใช้แก่นจันทน์เทศด้วย
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
ทั้งลูกจันทน์และดอกจันทน์ก่อนนําไปใช้ต้องคั่วและป่นให้ ละเอียดเสียก่อนเพื่อให้มีกลิ่นหอม นิยมใช้แต่งกลิ่นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น แฮม ไส้กรอก และใส่ในแกงเนื้อ ต้มเนื้อ เพื่อดับกลิ่นคาว นอกจากนี้ยังใช้แต่งกลิ่น ซุป ซอส ของว่างและขนมหวาน เช่น ขนมปัง แป้งพาย คัสตาร์ด คุกกี้ รวมทั้งใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่ม เช่น โกโก้ ช็อกโกแลต และ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ข้อสังเกต/ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรรับประทานลูกจันทน์มากกว่า 5 กรัม เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง มึนงง และระบบการเต้นของหัวใจผิดปกติอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. มีรายงานจากการทดลองพบว่าน้ํามันดอกจันทน์เทศมีสารที่สามารถกําจัดลูกน้ําและตัวอ่อนของแมลงได้
3. น้ํามันจันทน์เทศใช้แต่งกลิ่นยา สบู่ ครีม ยาทาผิว และยาชะล้าง
4. มีสารเมอริสติซิน (Myristicin) ในน้ํามันหอมระเหย หากรับประทานมากเกินไป จะทําให้เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน
5. ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร มีอาการปวดฟันและท้องเสียอันเกิดจากความร้อนไม่ควรรับประทานแก่นจันทน์เทศ
#ลูกจันทน์ #ดอกจันทน์ #ดอกจันทน์เทศ #เครื่องเทศ #สมุนไพร