ดีปลี สาระน่ารู้เครื่องเทศและสมุนไพร

ดีปลี

ชื่อสามัญ/ชื่ออังกฤษ Long Pepper
ชื่อวิทยาศาสตร์
Piper chaba Vahl.
วงศ์
Piperaceae
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น
ดีปลีเชือก (ภาคใต้) ประดงข้อ ปานน (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ดีปลีเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับพริกไทยและพลู เป็นไม้เลื้อยที่ใช้รากตามข้อลําต้นช่วยในการยึดเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน
มีลักษณะยาวรีเป็นมัน ขอบใบไม่ตรง ปลายใบแหลม ผลของดีปลีออกเป็น เม็ดเล็กๆ อัดกันเป็นแท่งยาวรูปสามเหลี่ยมคล้ายผลพริกไทย แต่ผลของดีปลีไม่สามารถแยกออกมาเป็นเม็ดๆ ได้เหมือนผลพริกไทย ผลอ่อนของดีปลีมีสีเขียวสด เมื่อแก่จะมีสีแดงและมีกลิ่นหอมฉุน รสชาติเผ็ดร้อนกว่า พริกไทย ดีปลีมี 2 ชนิด คือ ดีปลีที่มาจากอินเดีย ซึ่งได้จากต้น Piper longum Linn. และ Piper peepuloides ส่วนดีปลีที่มาจากอินโดนีเซียจะได้จาก Piper retrofractum Vahl. ซึ่งนิยมปลูกในประเทศไทย

แหล่งที่พบ
พบได้ทั่วไปเพราะนิยมปลูกแซมพืชอื่นตามสวนและตามบ้าน พบมากทางภาคใต้

สารสําคัญที่พบ
ผลดีปลีมีสารอัลคาลอยด์พิเพอรีน (Piperine) สารพิพลาร์ทีน (Piplartine) ซึ่งจะพบสารนี้ในลําต้นและรากเช่นกัน แต่จะมีปริมาณน้อยกว่า และมีสารอัลคาลอยด์ เอ (Alkaloid A) ซึ่งเป็นของเหลว นอกจากนี้ยังมี สารเซซามิม (Sesamim) ไดไฮโดรสติคมาสเทอรอล (Dihydrostigmasterol) สเตอรอล (Sterol) ส่วนน้ํามันหอมระเหยได้จากการนําดีปลีแห้งมากลั่น ด้วยไอน้ํา ประกอบด้วยสารหลัก คือ อัลฟา-ทูจีน (α-Thujene) เทอร์ปิโนลีน (Terpinolene) ซิงจิเบอร์รีน (Zingiberene) พารา-ไซมีน (ρ-Cymene) เป็นต้น


สรรพคุณ
ดีปลี มีสรรพคุณช่วยบํารุงธาตุ แก้อ่อนเพลีย ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร และโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังใช้แก้โรคลม บ้าหมู ใช้ขับประจําเดือน ขับน้ําดี และใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

1. ใช้เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย โดยใช้ผลดีปลีที่สุกเต็มที่ 3-4 ผล หรือเถาดีปลีชงกับน้ําร้อน ดื่มขณะยังอุ่น
2. ใช้ขับเสมหะ โดยใช้ผลดีปลีแห้งประมาณครึ่งผล บดให้ละเอียด ผสมกับน้ํามะนาว เติมเกลือเล็กน้อย ใช้จิบบ่อยๆ
3. ใช้เป็นยาทาภายนอก เพื่อลดอาการอักเสบและปวดกล้ามเนื้อ เพราะความร้อนของดีปลี ทําให้มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น

ส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร
ผลแก่แห้ง

วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
ทางภาคใต้นิยมรับประทานผลอ่อนเป็นผักเหนาะ และใส่ผลแห้งเพื่อดับ กลิ่นคาวในแกงเผ็ด แกงคั่ว นอกจากนี้ยังใช้ในการถนอมอาหารไม่ให้บูด และแต่งกลิ่นผักดอง หรือนํามาปั่นเป็นผงผสมปนในพริกไทยดํา

ข้อสังเกต/ข้อควรระวัง
1. เมื่อเคี้ยวผลดีปลี จะมีฤทธิ์กระตุ้นต่อมน้ําลายให้มีมากขึ้น และ ทําให้เกิดอาการชาในปาก
2. ไม่ควรรับประทานดีปลีในปริมาณมากเพราะจะทําให้เกิดอาการคอแห้ง ร้อนท้องและแสบที่ทวารหนักเวลาถ่ายอุจจาระ ทําให้กระเพาะอาหารอักเสบได้
3. ผู้ป่วยที่มีอาการร้อนในและมีไข้ไม่ควรรับประทานเพราะรสชาติเผ็ดร้อนของดีปลีอาจทําให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น

#ดีปลี #เครื่องเทศ #สมุนไพร